วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

นิยาม ความหมาย ของหลักสูตร (Defining Curriculum)


         “หลักสูตร”   แปลมาจากคำว่า “curriculum” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน “currere” หมายถึง “running course” หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่ง  ต่อมาได้นำศัพท์นี้มาใช้ในทางการศึกษาว่า “running sequence or learning experience” (Armstrong, 1986: 2) การที่เปรียบเทียบหลักสูตรกับสนาม  หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งอาจเนื่องมาจากการที่ผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาในระดับใดหรือหลักสูตรใดก็ตาม  ผู้เรียนจะต้องฟันฝ่าความยากของวิชาหรือประสบการณ์การเรียนรู้ตามลำดับขั้นที่กำหนดไว้ในหลักสูตร  เช่นเดียวกับนักวิ่งที่ต้องวิ่งแข่งและฟันผ่าอุปสรรคไปสู่ชัยชนะและความสำเร็จให้ได้
            ในสมัยก่อนประเทศไทยใช้คำว่า “หลักสูตร” กับคำว่าว่า Syllabus” ปรากฏว่าในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย  พุทธศักราช 2503  ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “curriculum” แทน  เพราะต้องการแยกให้มีความหมายที่ชัดเจน
-                   Curriculum หมายถึง รายวิชาต่างๆ ทั้งหมดที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย  หรือรายวิชาหนึ่งๆ ที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัย  หรือมหาวิทยาลัย
-                   Syllabus หมายถึง ประมวลการสอนในแต่ละรายวิชา ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ กิจกรรม การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล

            กู๊ด (Good, 1973: 157) ได้ให้ความหมายของคำศัพท์ไว้ในพจนานุกรมทางการศึกษา (Dictionary of Education) ว่า หลักสูตร คือกลุ่มรายวิชาที่จัดไว้อย่างมีระบบ หรือลำดับวิชาที่บังคับสำหรับการจบการศึกษาหรือเพื่อรับประกาศนียบัตรในสาขาวิชาหลักต่างๆ เช่น หลักสูตรสังคมศึกษา หลักสูตรสังคมศึกษา หลักสูตรพลศึกษา
            บ๊อบบิท (Bobbitt, 1918: 42) ได้ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ รายการของสิ่งต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนต้องทำ และมีประสบการณ์ ด้วยวิธีการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวให้ดี เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้
            โอลิวา (Oliva, 1982: 10) กล่าวว่า หลักสูตร คือ แผนหรือโปรแกรมสำหรับประสบการณ์ทั้งหลายที่ผู้เรียนจะต้องประสบภายใต้การอำนวยการของโรงเรียน
            ทาบา Taba (1962: 10) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรสรุปได้ว่า  หลักสูตรเป็นเอกสารที่เขียนขึ้น โดยประกอบด้วยเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้  เนื้อหาสาระ  กิจกรรมหรือประสบการณ์การเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ และการพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการวินิจฉัย (diagnosis) และตัดสินใจ (decision) เกี่ยวกับองค์ประกอบเหล่านั้น
            กมล สุดประเสริฐ (2516: 10) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า หลักสูตรมิได้หมายความเพียงแต่หนังสือหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น  แต่ยังมีความหมายถึง กิจกรรมและประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้กับเด็ก  ซึ่งรวมถึงการสอนของครูต่อนักเรียนด้วย
            ซึ่งจากความหมายต่างๆ เหล่านี้ สามารถสรุปความหมายของ “หลักสูตร” ได้ดังนี้
1.      หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
2.      หลักสูตรในฐานะทีเป็นเอกสารหลักสูตร
3.      หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่างๆ ที่จะให้แก่ผู้เรียน
4.      หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียน
5.      หลักสูตรในฐานะที่เป็นมวลประสบการณ์
6.      หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
7.      หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
สำหรับข้าพเจ้า  ความหมายของคำว่า “หลักสูตร” คือ แนวทางทางการศึกษาอันจะนำไปสู่
การจัดการเรียนการสอน จัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียน  เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสม สร้างพัฒนาการให้แก่ผู้เรียน  ซึ่งหลักสูตรเปรียบเสมือนเครื่องมือวัดภาพลักษณ์ของสังคมในอนาคต โดยมีตัวแปรที่สำคัญคือ ผู้สอน และผู้เรียน  นั่นหมายความว่า หลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น